สหรัฐฯ เชิญเมียนมาร์มาร่วมงานคอบร้าโกลด์ โอกาสกระชับความสัมพันธ์

วันนี้ (19 ต.ค.) มีข่าวว่าสหรัฐฯ เชิญเมียนมาร์ร่วมสังเกตการณ์การฝึกคอบร้าโกลด์ เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อฝ่ายกองทัพเมียนมาร์ที่สหรัฐฯ เห็นว่ามีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Reuters)
            นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่าการที่สหรัฐฯ เกี่ยวสัมพันธ์กับฝ่ายทหารอีกครั้ง เพื่อแยกเมียนมาร์ออกห่างจากจีน
            ผมวิเคราะห์ว่าเป้าหมายเบื้องต้นน่าจะเป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ตามปกติ ทำความรู้จักระหว่างตัวบุคคล เป็นการทูตของฝ่ายทหารด้วยกัน และช่วยปูทางสู่การสัมพันธ์ในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น ผ่านช่องทางอื่นๆ ต่อไป
            การสร้างความสนิทสนมระหว่างบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีย่อมช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี แล้วสิ่งดีๆ อื่นๆ จะตามมา
            การเชิญแม่ทัพนายกองเมียนมาร์มาประเทศไทยเพื่อสังเกตการณ์การฝึกทางทหารจึงมีความสำคัญ
            พูดในกรอบนโยบาย การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นไปตามแนวนโยบายของประธานาธิบดีเทียน เส่ง กับประธานาธิบดีบารัก โอบามาอยู่แล้ว
ฝ่ายกองทัพเมียนมาร์ย่อมได้ประโยชน์จากการนี้
            เพียงแต่ปรับระดับความสัมพันธ์ ปรับระยะห่างระหว่างประเทศตนกับจีนและสหรัฐฯ ให้เหมาะสม เชื่อว่าย่อมเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
            ไม่ต่างอะไรจากการที่ญี่ปุ่นเห็นว่าจีนเป็นหนึ่งในภัยคุกคามทางทหารที่สำคัญที่สุด จึงเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐฯ เพื่อป้องปรามจีน แต่นั่นไม่เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นไม่ทำการค้าการลงทุนจำนวนมหาศาลกับจีน
            หรือจะยกตัวอย่างสหรัฐฯ ที่แม้ในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงจะถือจีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุด แต่สหรัฐฯ ทำการค้าการลงทุนกับจีน สองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมทางเศรษฐกิจระดับมีผลต่อเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว
            ส่วนประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเชื่อว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจเติบโต สังคมเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น
            ดังนั้น หากเมียนมาร์เปิดประเทศทางเศรษฐกิจมากขึ้นย่อมมีผลดีหลายอย่าง
            การส่งเทียบเชิญให้แม่ทัพนายกองเมียนมาร์มาร่วมสังเกตการณ์การฝึกคอบร้าโกลด์ จึงนับเป็นอีกหนึ่งเทียบเชิญสำคัญ มีความหมายของการยอมรับอยากผูกมิตร

ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าจะมองว่างานนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นก็ย่อมสามารถมองได้ เพราะจีนก็เป็นหนึ่งในผู้สงเกตการณ์อยู่แล้ว ถ้าจะมีเมียนมาร์มาร่วมด้วยก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร
หรือถ้าปีนี้ไม่มาร่วมงาน ก็ไม่แตกต่างหรือมีนัยในแง่ลบแต่ประการใด ยังสามารถสร้างสัมพันธ์ผ่านวิธีอื่นๆ วาระอื่นๆ อีกมากมายไม่จำเป็นต้องพึ่งงานคอบร้าโกลด์นี้
รวมความว่าส่งเทียบเชิญไปก็ดี ถ้ามายิ่งดี ถ้าไม่มาร่วมปีนี้ก็ไม่เสียหายอะไร
มองในภาพกว้างๆ ทุกชาติอาเซียน สหรัฐฯ กับชาติตะวันตกอื่นๆ ย่อมได้ประโยชน์จากการที่ฝ่ายกองทัพเมียนมาร์มีความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพประเทศอื่นๆ
ที่ควรย้ำเน้นคือ ความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดไม่เพียงเพราะจะได้ผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงร่วมกัน แต่จะส่งผลดีต่อเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างประเทศด้วย ถ้ายึดว่าทั้งสหรัฐฯ กับเมียนมาร์ต่างต้องการเห็นเศรษฐกิจเมียนมาร์เติบโตแบบเสรีนิยมมากขึ้น
ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากงานนี้โดยตรง เพราะสถานที่จัดคือในประเทศของเราเอง ไทยจึงเป็นเจ้าบ้านที่ต้องคอยต้อนรับขับสู้อยู่แล้ว และสามารถทำได้ดีเสมอมา
19 ตุลาคม 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------



โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก