ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนที่ 1

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา คณะบุคคลที่เรียกว่า Electoral College จะเป็นคนเลือก โดยดูจากคะแนนเสียงของประชาชน และสามารถ “เลือกขัดแย้ง” กับเสียงประชาชน Electoral College ทำหน้าที่กลั่นกรองความต้องการของคนอเมริกันอีกชั้น 

ตำแหน่งประธานาธิบดีมาจากการเลือกโดย Electors (Electoral College )
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
            การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้โดยง่าย กระทั่งคนอเมริกันหลายคนยังเข้าใจผิด ไม่ครบถ้วน เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่ต้องย้อนยุคตั้งแต่สมัยก่อตั้งประเทศ รากฐานระบบการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกับรัฐธรรมนูญประเทศ แม้กฎหมายการเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ระบบการเลือกตั้งปัจจุบันเป็นผลจากบริบทของสมัยนั้นซึ่งแตกต่างจากบริบทยุคปัจจุบัน
            จนถึงทุกวันนี้ตำแหน่งปธน.กับรองปธน.สหรัฐฯ ไม่ได้รับเลือกโดยตรงจากคะแนนเสียงของประชาชนชาวอเมริกันโดยตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้ว่าประชาชนจะกาเครื่องหมายว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด แต่มีค่าเท่ากับเป็นการไปลงคะแนนเพื่อเลือกกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า ‘Electors’ (คณะผู้เลือกตั้ง) จากนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จึงไปเลือกปธน.กับรองปธน.อีกทอดหนึ่ง
            เหตุที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเช่นนั้น เพราะขณะเมื่อเริ่มก่อตั้งประเทศ เริ่มต้นสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย (แม้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อยเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน) กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญกังวลการตัดสินใจของประชาชน ต้องการป้องกันไม่ให้ประชาชนเลือกด้วยอารมณ์ จึงกำหนดตัวบุคคลหรือที่เรียกว่า ‘Electors’ ที่จะใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดีด้วยจิตใจที่สงบเยือกเย็น มีเหตุผล
            ‘Electors’ จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลั่นกรองการลงมติของประชาชนอีกทอดหนึ่ง และเป็นผู้ออกเสียงเลือกตำแหน่งปธน.กับรองปธน.อย่างแท้จริงตามรัฐธรรมนูญ  
            คนอเมริกันจะไปลงคะแนนเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ผลการเลือกตั้งนี้จะได้คะแนนที่เรียกว่า popular votes ส่วน ‘Electors’ จะลงไปคะแนนในเดือนธันวาคมหลังทราบผล popular vote แล้ว ได้คะแนนที่เรียกว่า electoral votes ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งปธน.กับรองปธน.จะดูจากคะแนนเสียงข้างมากของ electoral votes (ยกเว้นบางกรณีซึ่งจะอธิบายต่อไป)

Electors
Electors (คณะผู้เลือกตั้ง) คือ ตัวแทนของพรรคการเมืองที่พรรคคัดสรรมาอย่างดี สมาชิกนิติบัญญัติของแต่ละรัฐเป็นผู้ตัดสินเลือกในขั้นสุดท้าย และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐในปีที่มีการเลือกตั้งปธน.ตามกฎหมายของแต่ละรัฐ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อทำหน้าที่เลือกปธน.กับรองปธน.
แต่ละรัฐจะต้องแต่งตั้งคนเหล่านี้ให้ได้อย่างน้อย 6 วันก่อนการประชุม Electors ในวันที่ 17 ธันวาคมของปีนี้ (2012)
Electors มีจำนวน 538 คนเท่ากับจำนวนของสมาชิกรัฐสภาบวกกับอีก 3 คนของ District of Columbia ตามรธน.สหรัฐฯ ให้ถือว่า District of Columbia มีฐานะเทียบเท่ารัฐในกระบวนการเลือกตั้ง
สหรัฐฯ ประกอบด้วย 50 รัฐ มีส.ว.รัฐละ 2 คน เท่ากับมี 100 ส.ว. ส่วน ส.ส.มี 435 คน เมื่อรวมกับอีก 3 คนของ District of Columbia จึงมีทั้งหมด 538 คน
Electors แต่ละคนจะมี 1 คะแนนเสียง เรียกคะแนนนี้ว่า electoral votes
กลุ่มคนเหล่านี้บางครั้งเรียกว่า Electoral College

มีข้อควรรู้คือสัดส่วน ส.ส.ขึ้นกับจำนวนประชากรในแต่ละรัฐ (เดิมใช้คำว่ามลรัฐ) แต่ไม่ได้เป็นไปในอัตราส่วนเดียวกัน เช่น ในปี 2004 รัฐแคลิฟอร์เนีย มี 1 electoral votes ต่อประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงทุก 664,700 คน ส่วนรัฐเมน มี 1 electoral votes ต่อประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงทุก 329,300 คน รัฐแคลิฟอร์เนียมีทั้งหมด 54 electoral votes ส่วนรัฐเมนมีเพียง 4 electoral votes
ดังนั้น Electors จำนวน 538 คน หรือคะแนน electoral votes จำนวน 538 คะแนนนี้จะเป็นผู้เลือกและกำหนดว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งปธน.กับรองปธน.ของประเทศสหรัฐฯ   
 Electors ทั้งหลายจะรวมตัวกันที่รัฐของตน เพื่อลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีกับรองประธานาธิบดีในวันจันทร์แรกหลังวันพุธที่สองของเดือนธันวาคม [คือจะให้ไปลงคะแนนในช่วงกลายเดือน ธ.ค. ปีนี้ (2020) จะตรงกับวันที่ 15 ธ.ค. หลังประชาชนไปเลือกตั้งในต้นเดือนพฤศจิกายน] การนับคะแนน Electors จะจัดขึ้นในที่ประชุมรัฐสภาในเดือนมกราคม ผู้สมัครที่ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งคือ 270 เสียงจะได้รับตำแหน่งปธน. หรือรองปธน.
            นั่นคือ คนอเมริกันจะไปลงคะแนนเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ส่วน Electors จะลงไปคะแนนในช่วงกลางเดือนธันวาคมหลังทราบผล popular vote แล้ว
            คะแนน electoral votes ที่สื่อนำเสนอทันทีที่สิ้นการเลือกตั้งวันที่ 6 พฤศจิกายนเป็นการคาดการณ์ว่า Electors จะไปลงคะแนนตามผลการเลือกตั้งวันที่ 6 พฤศจิกายน
กำหนดวันนับคะแนน electoral votes อย่างเป็นทางการของการเลือกตั้งปีนี้คือวันที่ 6 มกราคม 2013
เป็นวันที่คนทั้งโลกจะทราบผลว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยต่อไป
24 ตุลาคม 2012
(ปรับปรุง ธันวาคม 2020)
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------
บรรณานุกรม:
1. Who are the Electors? http://www.archives.gov/federal-register/electoral-college/electors.html
2. How the Electoral College Works. http://people.howstuffworks.com/electoral-college.htm
------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก