ข้อพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ จีนส่งคำเตือนอีกรอบ

18 กันยายน 2012
ชาญชัย
            คำเตือนจากกรุงปักกิ่งถึงกรุงโตเกียวรอบใหม่เกิดขึ้นหลังรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าซื้อเกาะ 3 เกาะของหมู่เกาะเซนกากุหรือที่คนจีนเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยูจากชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่อ้างถือสิทธิ์ 3 เกาะดังกล่าว
จนถึงวันนี้ทั้งสองประเทศยังไม่มีข้อยุติเหนือข้อพิพาทดังกล่าว ไม่อาจชี้ชัดว่าใครคือเจ้าของกันแน่
สื่อ People's Daily กระบอกเสียงของรัฐบาลจีนเสนอข่าวในย่อหน้าแรกว่า “หลังเสร็จจากขโมยเกาะ ญี่ปุ่นอาจใช้หมู่เกาะเตียวหยูเป็นจุดแบ่งพื้นผิวใต้ทะเลจีนตะวันออก ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 200 ไมล์ทะเล เพื่ออ้างความเป็นเจ้าของเหนือทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” ภายใต้พื้นที่เขตเศรษฐกิจดังกล่าว (People's Daily)
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ได้เตือนนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นโยชิฮิโกะ โนดะ แล้วว่า “ไม่ว่าญี่ปุ่นจะซื้อหมู่เกาะ [เตียวหยู] ด้วยวิธีการใดถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ ประเทศจีนจะต่อต้านถึงที่สุด” (Reuters)
            ล่าสุดสื่อ People's Daily พูดทำนองว่าจีนอาจใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือตอบโต้ โดยอ้างเหตุผลว่าจีนเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นตลาดลำดับสามของจีน และญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับจีน นักวิเคราะห์จีนจึงเห็นว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายเสียหายมากกว่า
การที่จีนเลือกใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรม นั่นคือจีนยังไม่คิดจะทำใช้กองทัพทำสงครามรบกับญี่ปุ่นให้บาดเจ็บล้มตาย อันจะก่อให้เกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนักด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่เลือกวิธีนุ่มนวลกว่านั่นคือใช้เรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวบีบ วิธีนี้สามารถปรับระดับให้แรงหรือเบาก็ได้
            วิธีการดังกล่าวจะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่รัฐบาลญี่ปุ่น เพราะนักธุรกิจนักลงทุนญี่ปุ่นคือกลุ่มผู้เสียหายลำดับแรก การเมืองภายในญี่ปุ่นจะเกิดแรงกดดันสองด้านคือจากพวกชาตินิยมชาวญี่ปุ่นกับนักลงทุนที่ต้องแบกรับความเสียหายจากธุรกิจในจีนหรือที่ทำกับจีน
            ณ วันนี้ที่รัฐบาลจีนยังไม่ประกาศใช้มาตรการใดๆ ต่อต้านญี่ปุ่น แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เกิดขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว (แน่นอนว่าจีนก็เสียหายด้วยเช่นกัน) เมื่อชาวจีนนับหมื่นคนทั่วประเทศลุกฮือประท้วง บริษัทญี่ปุ่นหลายถูกบุกทำลาย ธุรกิจหลายร้อยแห่งตั้งแต่โรงงานผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นจนถึงร้านอาหารต้องหยุดกิจการชั่วคราว (Japan Today)
            ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดกับญี่ปุ่นในขณะนี้จึงเป็นเพียงบทนำเท่านั้น
            ในอีกมุมหนึ่งที่น่าติดตามคือ รัฐบาลญี่ปุ่นจะดำเนินการตอบสนองเรื่องนี้อย่างไร เมื่อต้องเผชิญศึกทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพวกชาตินิยมญี่ปุ่นอาจตอบโต้ด้วยวิธีการทางใดทางหนึ่ง
            ไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าที่เป็นอย่างไร จีนคงอยากจะพูดว่านี่เป็นเพียงสัญญาณเตือนจากจีนเท่านั้น
            ย้อนกลับไปที่คำเตือนของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา “ไม่ว่าญี่ปุ่นจะซื้อหมู่เกาะ [เตียวหยู] ด้วยวิธีการใดถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะ ประเทศจีนจะต่อต้านถึงที่สุด
-------------------


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก