เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 แกะรอยโอบามาหาเสียงผ่านสหประชาชาติ
29 กันยายน 2012
ชาญชัย
สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีบารัก
โอบามาต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถวิเคราะห์ได้ในหลายมิติ
บทวิเคราะห์นี้ตั้งอยู่ในกรอบ ‘การเอื้อประโยชน์แก่ปธน.โอบามาในการหาเสียงเลือกตั้ง’ ซึ่งใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกทีแล้ว
ข้อสังเกตประการแรก คือ สุนทรพจน์ดังกล่าวพูดในกรอบสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
หรือมุสลิมอาหรับเป็นหลัก ไม่เอ่ยถึงประเด็นความมั่นคงอื่นๆ
ไม่เอ่ยถึงจีน ไม่แตะเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้สำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
มากกว่าและเป็นประเด็นปัจจุบันเช่นกัน
เป็นไปได้ว่าในเวลาจำกัด
ปธน.โอบามาเลือกพูดเพียงหมวดเดียว
โดยไม่สนใจว่าเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แห่งชาติมากที่สุดหรือไม่
สุนทรพจน์เริ่มด้วยการสดุดีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ
ประจำเมืองเบงกาซี ประเทศลิเบียว่าเป็นผู้ที่เสียสละทำงานหนัก
เป็นที่รักของชาวลิเบีย
ปธน.โอบามาแปรวิกฤตเหตุการณ์เผาโจมตีสถานกงสุลเบงกาซีเป็นโอกาสว่าสหรัฐฯ
มีสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลลิเบียที่จัดตั้งตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลลิเบียไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุดังกล่าว
อีกทั้งชาวลิเบียก็ไม่เห็นด้วยกับการเผาโจมตีสถานกงสุลด้วย
ในขณะเดียวกัน
ตอกย้ำถึงความเข้มแข็งในนโยบายของตนว่าสหรัฐฯ จะจับตัวคนผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแน่นอน
จากประเด็นสถานกงสุลเบงกาซี ปธน.โอบามาขยายกรอบพูดเรื่อง Arab
Spring ที่ทำให้ผู้นำอำนาจนิยมในโลกอาหรับหลายคนต้องหลุดจากเก้าอี้ แล้วกล่าวถึงกรณีซีเรียที่ยังวุ่นวายอยู่ว่าต้องล้มระบอบของบาชาร์ อัล-อัสซาดเพื่อคนซีเรียจะไม่ทุกข์ยากต่อไป
ได้เริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสดใส
จากนั้นพูดถึงเรื่องหลักการ กล่าวถึงค่านิยมเรื่องเสรีภาพและการตัดสินใจด้วยตนเอง
ว่าสองเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพียงค่านิยมของชาติตะวันตก แต่เป็นค่านิยมสากล
ย้ำว่าการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยทำให้ประเทศมีเสถียรภาพ มีความมั่งคั่งและให้โอกาสปัจเจกบุคคล
ปัจจัยทั้งหมดนี้เกื้อหนุนให้โลกมีสันติภาพ
เมื่อเอื้อนเอ่ยหลักประชาธิปไตย ข้อดีต่างๆ แล้วจึงค่อยพูดเรื่องที่ผมเห็นว่าคือไฮไลท์ของงานนี้
คือการพูดว่าประชาธิปไตยยังหมายถึงการที่พลเมืองมีเสรีภาพในการพูดสิ่งที่เขากับกลุ่มของเขาคิดเห็นโดยปราศจากความกลัว
บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและกระบวนการที่ปกป้องสิทธิของทุกคน
เหตุที่ยกเรื่องเสรีภาพการพูดเพราะต้องการโยงเข้าสู่เรื่องภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนาอิสลาม
อันเป็นเหตุให้เกิดประท้วงทั่วโลก
ปธน.โอบามาย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลสหรัฐฯ
ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนาอิสลาม
อเมริกาเป็นประเทศที่ต้อนรับทุกคนทุกเผ่าพันธุ์ ทุกศาสนา
เป็นบ้านของพวกมุสลิมที่อยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้เสรีภาพแก่ศาสนา
และมีกฎหมายเพื่อปกป้องปัจเจกบุคคลจากศาสนาที่เขานับถือ พลเมืองอเมริกันหลายล้านคนต่อต้านภาพยนตร์หมิ่นศาสนานี้เช่นกัน
ความผิดตกแก่พวกสุดโต่งพวกที่ประท้วงด้วยความรุนแรง
เป็นพวกที่หว่านความเกลียดชัง
ในสุนทรพจน์ยังได้ยกประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาค
เช่น สหรัฐฯ สนับสนุนสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ต่อต้านรัฐบาลอิหร่านที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย
กลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศ โครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่ยังไม่สามารถทำตามข้อบังคับของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ รัฐบาลอเมริกาต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิถีทางการทูต
สหรัฐฯ ได้ถอนทัพออกจากอิรักแล้ว และกองทหารของสหรัฐฯ
กับพันธมิตรจะถอนตัวออกจากอัฟกานิสถานในปี 2014
รวมความได้ว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งหมายถึงภายใต้รัฐบาลโอบามาสนับสนุนการอยู่ร่วมอย่างสันติระหว่างชาติมุสลิมกับประเทศอื่นๆ และไม่มีนโยบายที่แข็งกร้าวต่อโลกมุสลิมเช่นในอดีต
ข้อมูลหลายแหล่งชี้ว่าปัจจุบันมีชาวอเมริกันนับล้านคนที่นับถืออิสลาม
แม้คนมุสลิมอาจไม่ถูกใจปธน.โอบามาเสียทุกเรื่อง
แต่ท่านน่าจะเป็นที่ชื่นชมในหมู่โลกมุสลิมมากกว่านายมิตต์
รอมนีย์คู่แข่งชิงปธน.
ชาวมุสลิมกล่าวว่าภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนา
‘ทำร้าย’ หัวใจของพวกเขาโดยตรง
ในทางกลับกันคือการ ‘ได้ใจ’ จากพวกเขา (อย่างน้อยก็น่าพอเพียงที่จะไปเทคะแนนให้)
ต่อคนอเมริกันทั่วไป ในสุนทรพจน์ปธน.โอบามากล่าวเองว่า
พลเมืองอเมริกันหลายล้านคนไม่เห็นด้วยกับการลบหลู่ศาสนา และน่าจะเห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ
จะไม่แข็งกร้าวต่อภูมิภาคตะวันออกลางดังเช่นอดีตที่ผ่านมา
หากจะมองว่าสุนทรพจน์ที่กล่าวในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติคือการหาเสียงเลือกตั้ง
คาดว่าน่าจะได้คะแนนไม่น้อยทีเดียว