เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 จะผลิกผันเพราะเหตุมุสลิมลุกฮือประท้วงหรือไม่

21 กันยายน 2012
ชาญชัย
ทันทีที่เกิดเหตุมุสลิมประท้วงสหรัฐฯ เผากงสุลสหรัฐฯ ประจำเมืองเบงกาซี นายมิตต์ รอมนีย์ออกมากล่าวโจมตีประธานาธิบดีบารัค โอบามาว่าเป็นผู้นำประเทศที่อ่อนแอทันที (AP)
ไม่น่าจะผิดถ้าจะคิดว่าในยามที่นายรอมนีย์ยังไม่สามารถหักปธน.โอบามาด้วยประเด็นด้านเศรษฐกิจ ประเด็นภายในประเทศ จึงฉวยเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นโจมตีแทน
คิดอีกแบบที่เรียบง่ายกว่าคือนายรอมนีย์ย่อมต้องใช้ทุกโอกาสที่มีเพื่อบั่นทอนคะแนนเสียงของปธน.โอบามา เรื่องก็ตรงไปตรงมาอย่างนี้
ยุทธศาสตร์ที่นายรอมนีย์ใช้คือ กระตุ้นเลือดรักชาติของคนอเมริกันซึ่งใช้ได้ผลเสมอไม่ว่าจะที่ประเทศสหรัฐฯ หรืออีกหลายประเทศทั่วโลก (มีให้เห็นในข่าวอยู่เสมอ)
เบื้องหลังของการกล่าวโจมตีรัฐบาลโอบามาว่าใช้นโยบายที่อ่อนแอ คือการโยงทางความคิดว่าปธน.โอบามากำลังทำให้ประเทศอ่อนแอด้วย วิธีนี้จะสร้างความไม่พอใจแก่คนอเมริกันจำนวนมากที่ภูมิใจประเทศของตนว่ายิ่งใหญ่

            ปธน.โอบามาโต้กลับทันควัน “ดูเหมือนว่า [นายรอมนีย์] มีแนวโน้มที่จะยิงก่อนเล็งทีหลัง” (AP)
            อดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตันกล่าวสำทับ “พวกเขาต้องการใช้นโยบายเดิมๆ ที่เคยพาพวกเราไปเจอความยากลำบากมาแล้ว”
การโต้กลับของทั้งปธน.โอบามากับอดีตปธน.คลินตัน เป็นการพูดพาดพิงถึงเรื่องในอดีตเรื่องเดียวกันคือสมัยที่ปธน.จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช บุกโจมตีอิรักโค่นล้มอดีตปธน.ซัดดัม ฮุสเซน ด้วยข้อกล่าวว่าสร้างสมอาวุธอำนาจทำลายร้ายแรง แต่สุดท้ายพบว่าเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งสิ้น
            นายรอมนีย์ไม่ถอยโต้กลับตอกย้ำความอ่อนแอของปธน.โอบามาว่า ถ้าเป็นเรื่องการปกป้องคนอเมริกัน ปกป้องค่านิยมของชาติ การประณามศัตรูไม่มีคำว่าเร็วเกินไป (The National)
การปะทะคารมทางการเมืองภายในอเมริกาคือเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องคือมุสลิมยังประท้วงต่อเนื่อง และบางประเทศส่อเค้าความรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนชาวอเมริกันไม่ให้เดินทางไปประเทศปากีสถานโดยไม่จำเป็น เพราะการชุมนุมต่อต้านภาพยนตร์ลบหลู่ศาสนากำลังขยายตัวและส่อเค้ารุนแรงยิ่งขึ้น (Reuters)
ในขณะที่รัฐบาลโอบามายังพยายามใช้วิธีระงับความร้อนแรงของการประท้วง แต่วิธีนี้จะไม่ได้ผลกับมุสลิมบางกลุ่มที่ต้องการตอบโต้อเมริกาอยู่แล้ว (อ่านบทวิเคราะห์ มุสลิมลุกฮือประท้วงสหรัฐฯ เรื่องซับซ้อนกว่าที่คิด http://www.chanchaivision.com/2012/09/blog-post.html) ผลคือ รัฐบาลโอบามาจะตอบโต้แบบจำกัดขอบเขต ในขณะที่กลุ่มก่อการจะพยายามสร้างเรื่องปลุกเร้ามวลชนมุสลิมให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น
ถ้าการประท้วงยืดเยื้อ ทุกครั้งที่มีการประท้วงจะเป็นโอกาสของนายมิตต์ รอมนีย์ที่จะกล่าวโจมตีปธน.โอบามา
ยิ่งถ้าเกิดเหตุรุนแรง ยิ่งเอื้อให้นายรอมนีย์สามารถกดดันโอบามาได้แรงขึ้น ปธน.โอบามาเสี่ยงทำผิดพลาดมากขึ้น
โพลล์ล่าสุดของ NBC News/Wall Street Journal สำรวจเมื่อวันที่ 12-16 กันยายน ชี้ว่าก่อนเกิดเหตุมุสลิมประท้วงสหรัฐฯ ชาวอเมริกันร้อยละ 54 เห็นชอบกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของปธน.โอบามา แต่หลังเกิดเหตุคะแนนลดลงเหลือร้อยละ 49 และไม่เห็นด้วยร้อยละ 46 (The Ticket)
ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นปธน.โอบามา นายรอมนีย์ หรือกลุ่มมุสลิมที่หวังก่อความรุนแรง ต่างกำลังคำนวณเกมนี้ด้วยกันทิ้งสิ้น ทุกคนกำลังรอทิ้งไพ่ของตัวเอง หาโอกาสของตัวเอง รอจังหวะพลาดของอีกฝ่าย
งานนี้ต่างฝ่ายต่างวางเดิมพันสูง
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวอาจหมายถึงการช่วยให้อีกฝ่ายวิ่งเข้าเส้นชัยในโค้งสุดท้าย
ณ จุดนี้ยากจะคาดเดาว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปแบบเรียบง่ายหรือซับซ้อน (ขึ้นกับว่าใครจะเลือกแนวทางวิเคราะห์แบบไหน) วิธีง่ายๆ คือติดตามสถานการณ์โลกต่อไป เพราะเรื่องยังไม่จบ
---------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก