เลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2012 กับ QE3
12 กันยายน 2012
ชาญชัย
ยิ่งใกล้วันเลือกประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนปีนี้
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่คนอเมริกันจะประเมินผลงานของประธานาธิบดีบารัค
โอบามาคือเรื่องอัตราว่างงาน เพราะคนว่างงาน 1 คนหมายถึงค่าผ่อนบ้าน
ผ่อนรถ อนาคตทางเศรษฐกิจของคนผู้นั้น
อาจหมายถึงสามี/ภรรยาที่ต้องออกหางานทำหรือทำงานล่วงเวลาเพื่อชดเชยรายได้ของครอบครัวที่ลดลงอันเนื่องจากภรรยา/สามีที่ตกงาน
คนอเมริกันวิตกกังวลเรื่องการว่างงานมาก
ประธานาธิบดีโอบามาตระหนักว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
เพราะสถิติการเลือกตั้งประธานาธิบดีชี้ว่าถ้าอัตราว่างงานเกินร้อยละ 7 ผู้ที่เป็นปธน.อยู่แล้วจะมีโอกาสแพ้การเลือกตั้งถึงร้อยละ 75 จากสถิติที่ว่าตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา พบว่ามี 4 การเลือกตั้งคือ 1976, 1980, 1984 และ 1992 ที่อัตราการว่างงานอยู่ระดับเกินร้อยละ 7
ในการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ว่านี้ 3
ครั้งที่ผู้เป็นประธานาธิบดีจะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง มีเพียงครั้งเดียวคือปี 1984 ที่อดีตปธน.เรแกนสามารถได้รับเลือกอีกสมัยด้วยอัตราคนว่างงานที่ร้อยละ 7.2 ทั้งนี้เป็นเพราะว่าหนึ่งปีก่อนปีการเลือกตั้งอดีตปธน.เรแกนสามารถลดอัตราว่างงานร้อยละ
1.3 (http://www.hamiltonplacestrategies.com/)
หลายครั้งที่ประธานใหญ่ธนาคารกลางสหรัฐฯ
นายเบน เบอร์นันเก้ เมื่อพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะผูกโยงกับปัญหาคนว่างงาน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะจำนวนคนว่างงานคือปัญหาที่รูปธรรมมากกว่าการพูดว่าจีดีพีสหรัฐฯ
เติบโตแบบชะลอตัว เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ที่สำคัญคือ
คนอเมริกันสนใจว่ามีคนว่างงานกี่คน เพิ่มขึ้นหรือลดลง มากกว่าดูที่ตัวเลขจีดีพี
ตัวเลขนำเข้าส่งออก ฯลฯ
ในขณะที่การหาเสียงระหว่างโอบามากับนายมิตต์
รอมนีย์กำลังเข้มข้นทุกขณะ แม้ว่านายรอมนีย์ประกาศว่าจะลดอัตราคนว่างงานให้เหลือร้อยละ
4 (AP, 4 พ.ค.) แต่สำนักโพลล์ต่างๆ ส่วนใหญ่ยังชี้ว่าโอบามามีคะแนนนำอยู่เล็กน้อยตลอดเวลา
มีหรือไม่มี QE3
ผมตั้งสมมติฐานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง QE3
กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนี้
‘ถ้าในวันพฤหัสหรือวันศุกร์นี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการ
QE3
(ตามที่หลายคนเรียกเมื่อเอ่ยถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งหน้า) และอ้างเหตุเพื่อลดอัตราคนว่างงาน
ผลที่ตามมาคือคนว่างงานอาจจะลดลง แต่ส่งผลเสียทางการเมืองต่อนายโอบามาเพราะนายรอมนีย์จะนำจุดนี้กล่าวโจมตีว่าโอบามายอมรับว่าตนบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด
ดำรงตำแหน่งมาเกือบครบเทอมแต่ไร้ความสามารถในการแก้ปัญหาคนว่างงาน
ในทางกลับกัน
ถ้าธนาคารกลางไม่ออก QE3 เท่ากับชี้ว่าปัญหาคนว่างงานยังไม่รุนแรงพอที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตีความเชิงการเมืองว่าโอบามาแก้ไขปัญหาคนว่างงานถูกทางแล้ว สถานการณ์คนว่างงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจแต่พอรับได้
และเนื่องจากปัญหาดังกล่าวจำต้องแก้เชิงโครงสร้าง ต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้
ดังนั้นโอบามาจึงควรดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกสมัย'
ถ้าเป็นไปตามสมมติฐานดังกล่าว
ปธน.โอบามาคงไม่อยากให้มี QE3 ในสัปดาห์นี้
สุนทรพจน์ตอนหนึ่งของโอบามาในที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตเมื่อสัปดาห์ก่อน
...
“ผมกำลังขอให้คุณเลือกอนาคต
ผมกำลังขอให้คุณวิ่งเข้าใส่เป้าหมายหลายข้อเพื่อประเทศของเรา ...
แผนงานที่ทำได้จริงเพื่อสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ โอกาสใหม่ รื้อฟื้นเศรษฐกิจนี้อีกครั้งบนรากฐานที่แข็งแกร่งกว่าเดิม
นี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถทำร่วมกันในอีก 4
ปีข้างหน้า และเป็นเหตุผลที่ผมขอลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง” (National Post)