ประเด็นโลก ประเด็นร้อน 10 – 16 กันยายน 2012

วันที่ปราศจาก QE3 ไม่ใช่วันสิ้นโลก
8 กันยายน 2012
ชาญชัย
            คนจำนวนไม่น้อยกำลังใจจดใจจ่อรอวันที่ 12 กันยายน เป็นวันสำคัญลุ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มักถูกขนานนามว่า QE3 หรือไม่ สำหรับบางคนมีความหมายมากเป็นพิเศษ แต่ไม่น่าจะมีความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เท่าไรนัก

1 ถ้ามี QE3 ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

            ลองตั้งคำถามกับตัวเองง่ายๆ ว่า จริงหรือ ถ้ามี QE3 แล้วเศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกจะเดินหน้าไปข้างหน้าอย่างสดใส
            คิดง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดินว่า ถ้า QE1, QE2 เอาอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องมี QE3 ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้ว QE3 จะเอาอยู่หรือ
            ดังนั้น ถ้าเชื่อว่า QE3 ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายและสัปดาห์หน้าถ้าเฟดประกาศใช้ QE3 แปลว่าในอนาคตน่าจะมี QE4 ตามมา เพราะมี QE 1, 2, 3 แล้ว
            คำว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความหมายในตัวอยู่แล้วว่าเพียงแค่บรรเทาอาการ ไม่ได้รักษาโรคให้หายขาด

2 ถ้าไม่มี QE3 เศรษฐกิจก็ยังดำเนินต่อไป

            ณ วันนี้ไม่ว่าจะมี QE3 หรือไม่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ภาวะถดถอยและไม่ใช่ร้อนแรงเฟื่องฟู
            บางคนอาจโต้แย้งว่า ถ้าไม่มี QE3 เศรษฐกิจจะแย่ลง
            คำโต้กลับคือ ตลอดปีที่ผ่านมาดัชนีเศรษฐกิจ ดัชนีอุตสาหกรรมและการค้าต่างๆ ของภาคเศรษฐกิจจริงที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี มีทั้งดีกับไม่ดีผสมกัน ดังนั้น จะฟันธงว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็คงจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก
            ดัชนีทางเศรษฐกิจที่ปรากฎจึงเป็นข้อเท็จจริงลบล้างความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ
ส่วนข้ออ้างที่บอกว่าอนาคตเศรษฐกิจจะแย่ลงนั้นมีมูลความจริงหากพิจารณาเศรษฐกิจโลก ปัญหาของยูโรโซน การชะลอตัวของจีน คำถามคือควรจะออกมาตรการเสียแต่ตอนนี้หรือรอให้สถานการณ์ชัดเจนกว่านี้เพื่อจะออกมาตรการที่แก้ปัญหาตรงจุด ให้ยาตรงโรค ให้ขนาดยาแรงพอ
ถ้าจะอ้างอัตราว่างงานที่คุณเบน เบอร์นันเก้เป็นห่วง ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.1 เป็นระดับใกล้เคียงกับตอนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีก่อน (ที่ 8.3) และตลอดปี 2012 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ระหว่าง 8.1-8.3 มาโดยตลอด
อัตราว่างงานรายเดือนเป็นอีกดัชนีหนึ่งที่ชี้ว่า เศรษฐกิจดีขึ้นก็ไม่เชิง แย่ลงก็ไม่ใช่
            บางคนเห็นว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไม่แรงพอที่จะเพิ่มการจ้างงานได้มากพอ ข้อถกเถียงเรื่องนี้คือควรทำอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตมากเพียงพอ จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะได้ผลชั่วคราวหรือดำเนินวิธีการที่มุ่งให้เกิดผลระยะยาว นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่ามาตรการกระตุ้นมีผลเสียเช่นกัน
ประธานาธิบดีโอบามาเพิ่งปราศรัยในที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งการว่างงานจำต้องปรับแก้โครงสร้าง ต้องใช้เวลานาน แม้เป็นการพูดเพื่อหาเสียงแต่ก็เป็นความจริงเช่นกัน
            ในเวลาที่ไม่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจกำลังแย่ลง แปลว่าไม่แน่ใจว่าควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เหลือแต่ความจริงที่ว่าเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไป

3 ถ้าปราศจาก QE3 ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลสหรัฐฯ หมดหนทางแล้ว

            ตลอดสองเดือนที่ผ่าน หลายคนจับจ้องแต่ QE3 เฝ้ารอวันที่เฟดจะประกาศใช้
            ความจริงแล้ว ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมีหนทางที่จะทำได้อีกมาก ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือของธนาคารกลางเสมอไป
            ในทศวรรษ 1930 เมื่อสหรัฐฯ เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) คนทำงานราวหนึ่งในสี่ตกงาน อีกจำนวนมากไม่มีเงินพอกับค่าครองชีพ รัฐบาลสมัยนั้นผ่าทางตันด้วยการใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (ที่เรียกว่า New Deal) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อสร้างงานจำนวนมาก ปล่อยเงินกู้และใช้ระบบประกันสังคมดูแลผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างทั่วถึง จนเศรษฐกิจฟื้นกลับมาในที่สุด
            หรือกรณีซับไพร์มที่รัฐบาลใช้มาตรการเฉียบขาดจัดการปัญหา แม้มีผู้เห็นด้วยกับผู้ไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็นำพาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
            ประวัติศาสตร์จึงชี้ว่าในยามเศรษฐกิจถดถอย ตลาดเงินตลาดทุนหุ้นตกต่ำถึงขีดสุด รัฐบาลจะหาทางแก้จนได้
          อยู่ที่ว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร มีความจำเป็นแค่ไหน
            สำคัญที่ว่าต้องแยกระหว่างเศรษฐกิจภาคการผลิตจริงกับตลาดเงินตลาดทุน รัฐบาลไม่อาจปล่อยให้ภาคเศรษฐกิจจริงหรือตลาดเงินตลาดทุนล้ม ทั้งสองส่วนเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกัน รัฐย่อมเลือกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่จำเป็น มากเท่าที่ต้องการ อย่างมีเหตุผลรองรับ (แม้จะเพื่อประโยชน์ทางการเมือง) อย่างน้อยเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ จนถึงวันนี้ยังมีผู้เชื่อว่าเฟดจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า ถ้า มี ไม่ได้แปลว่าโลกจะสวยงามตลอดไป และ วันที่ปราศจาก QE3 ไม่ใช่วันสิ้นโลก
------------------------


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก