ชาติตะวันตกกับตัวเลือกสร้างเขตปลอดภัยหรือเขตห้ามบินในซีเรีย

29 สิงหาคม 2012
ชาญชัย
สองสามสัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นางฮิลลารี่ คลินตัน ได้หารือกับรัฐบาลตุรกีในเรื่องสถานการณ์ซีเรีย ข่าวรายงานว่าน่าจะเป็นการหารือเรื่องที่สหรัฐฯ กับตุรกีอาจร่วมกันสร้างเขตห้ามบิน (no-fly zones) ตลอดพรมแดนระหว่างตุรกีกับซีเรีย
            ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียร้องขอมานานแล้ว และชาติตะวันตกเคยใช้วิธีนี้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลกัดดาฟี่ ประเทศลิเบีย
ล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส ลอรอนต์ แฟบิอุส (Laurent Fabius) กล่างถึงการสร้างเขตกันชน (buffer zone)
หากสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเขตห้ามบินหรือเขตกันชน สถานการณ์ในซีเรียจะพลิกผันให้ฝ่ายต่อต้านเป็นฝ่ายได้เปรียบทันที
บทวิเคราะห์นี้จะอธิบาย คำสองคำดังกล่าวพร้อมวิเคราะห์ความแตกต่าง ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

1. กรณีเขตห้ามบิน

            ถ้ากำหนดใช้เขตห้ามบิน (no-fly zone) หมายถึงการที่ชาติตะวันตกกำหนดเขตพื้นที่ห้ามไม่ให้อากาศยานหรือรถถัง ยานเกราะ อาวุธหนักของซีเรียเคลื่อนกำลังหรือทำการสู้รบในพื้นที่ที่กำหนด
            กรณีนี้จะเหมือนกับกรณีของลิเบียเมื่อชาติตะวันตกต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีกัดดาฟี่ กำหนดให้น่านฟ้าทั้งประเทศลิเบียเป็นเขตห้ามบิน โดยมีกองทัพอากาศฝรั่งเศสกับอังกฤษเป็นกองกำลังหลัก ส่วนสหรัฐฯ สนับสนุนด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่การส่งเครื่องบินรบเข้าร่วมรบโดยตรง
            เมื่อรัฐบาลกัดดาฟี่ไม่สามารถใช้เครื่องบินรบ รถถัง อาวุธหนักโจมตีฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายต่อต้านจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบจนโค่นล้มรัฐบาลกัดดาฟี่ได้ในที่สุด
            หากชาติตะวันตกเลือกใช้วิธีนี้ อาจชี้ว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียมีกำลังเข้มแข็งพอสมควร รัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซัดจะล้มในไม่ช้า
2. กรณีเขตปลอดภัย
            คำว่เขตปลอดภัยหรือเขตกันชน (safe zone/ buffer zone ) ยังไม่ถูกกำหนดชัดเจนว่าหมายถึงลักษณะใด น่าจะมีข้อแตกต่างจากเขตห้ามบิน
ถ้าเขตปลอดภัยหมายถึงการแบ่งพื้นที่บางส่วนของซีเรียเป็นเขตที่ปลอดทหารซีเรียเพื่อความปลอดภัยของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ของประชาชนที่เข้ามาลี้ภัยในขอบเขตพื้นที่ดังกล่าว ในกรณีนี้ การสร้างเขตปลอดภัยต้องอาศัยทั้งกองกำลังทางอากาศกับภาคพื้นดิน และจำต้องมีกองกำลังภาคพื้นดินที่มากกว่ากองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย คือต้องมีกองกำลังต่างชาติเข้าร่วมด้วย
            คำถามสำคัญคือ ถ้าต้องมีกองกำลังต่างชาติร่วมด้วยจะหมายถึงทหารของชาติใด
            ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ในขณะนี้ ผมเชื่อว่าชาติตะวันตกคงต้องการให้ตุรกีเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เพราะชาติตะวันตกทั้งสหรัฐฯ กับยุโรปต่างไม่ต้องการเอาชีวิตทหารของตนไปเสี่ยง และประชาชนอาจต่อต้านหากรัฐบาลดำเนินนโยบายเช่นนั้น
            ถ้าเป็นเช่นนั้น ความรับผิดชอบด้านกองกำลังภาคพื้นดินจึงตกอยู่กับตุรกีเพียงประเทศเดียว ความมั่นคงปลอดภัยในเขตพื้นที่ปลอดภัยจึงตกเป็นภาระโดยตรงของตุรกีไปโดยปริยาย
            รัฐบาลตุรกีต้องคิดหนักในเรื่องนี้ เพราะหากต้องรับผิดชอบภาคพื้นดิน ย่อมมีความเสี่ยงที่ทหารของตนจะต้องสู้รบกับกองทัพรัฐบาลซีเรีย ต้องบาดเจ็บล้มตายไม่มากก็น้อย มีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
            และต้องมั่นใจว่ารัฐบาลซีเรียชุดต่อๆ ไปจะญาติดีกับตน
            ที่สุดแล้ว ถ้าก่อตั้งเขตปลอดภัย ตีความว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียไม่ได้เข้มแข็ง และความขัดแย้งอาจยืดเยื้อ ประเทศซีเรียถูกแยกเป็น 2 ประเทศ
            ทั้งหมดเป็นเพียงการประมวลผลจากข้อมูลที่เล็ดลอดปรากฎเป็นข่าว ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป
-----------------


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก