การกระตุ้นเศรษฐกิจควรสร้างความเจริญที่ยั่งยืน

บทความ 16 สิงหาคม 2012
ชาญชัย
            เป็นเรื่องบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ ที่ขณะนี้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในสามระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซนและจีน
            โดยทั่วไปรัฐบาลทุนนิยมควรปล่อยให้ความเป็นไปของตลาดเป็นไปตามกลไกเสรีให้มากที่สุด แต่เนื่องจากระบบตลาดเงินตลาดทุนเป็นศูนย์รวมความมั่งของของประชาชนจำนวนไม่น้อย ทั้งนายทุนเล็กนายทุนใหญ่ อีกทั้งความเชื่อมั่นของตลาดส่งผลกระทบสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการเมือง สังคมอีกทอดหนึ่ง รัฐบาลจึงไม่อาจมองข้ามความต้องการของตลาดได้
            กลายเป็นว่ารัฐทุนนิยม (หรือกึ่งทุนนิยมกึ่งระบบตลาด) ต้องเข้าแทรกแซงกลไกการค้าเสรีเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ บางรัฐถึงกับยินดีเสียอธิปไตยบางส่วนเพื่อแลกกับความช่วยเหลือจากต่างชาติ จากองค์กรระหว่างประเทศ
            แน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่ยอมให้ตลาดเอาแต่ใจตน กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร้เหตุผล เพราะการกระทำเช่นนั้นจะถูกฝ่ายค้านฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโจมตี และที่สำคัญคือจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนในที่สุด
            เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนควรเข้าใจว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมีทั้งทำเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องกินเวลานานเป็นปี แต่ละประเภทย่อมต้องใช้กระบวนการแก้ไขที่แตกต่างกัน ใช้มาตรการที่แตกต่าง เวลาที่ไม่เท่ากัน เราไม่ควรคาดหวังมาตรการแก้ไขเดียวกันในปัญหาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
            สิ่งที่เราควรคาดหวังคือ มาตรการเหล่านั้นมีเพื่อสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการเมือง สังคมในระยะยาว เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน แก้ไขปัญหาโดยไม่ทำลายรากฐานสังคม
            ตัวอย่างมาตรการบางอย่างอาจไม่กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เป็นการรักษาเยียวยาที่ยั่งยืนกว่า เช่น การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคมทางการเมือง การส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน เรื่องเหล่านี้ไม่ส่งผลดีในระยะสั้นแต่คือความยั่งยืนในระยะยาว
ในขณะที่ยูโรโซนกำลังวิกฤตในขณะนี้ ประเทศเยอรมันถูกมองว่าได้ประโยชน์มากที่สุด เหตุเพราะมีระบบเศรษฐกิจภายในที่เข้มแข็ง ไม่ว่าเรื่องนี้จะมองในทางร้ายหรือทางดี เป็นหลักการที่เข้าใจทั่วไปว่าทุนนิยมยุคโลกภิวัตน์ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ทุกประเทศทุกระบบเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน ประโยคนี้ควรพูดให้ชัดเจนขึ้นว่าจะมีบางประเทศหรือบางระบบเศรษฐกิจที่เสียเปรียบ เป็นสภาพการแข่งขัน ความร่วมมือที่จะมีผู้ได้ประโยชน์มากกับผู้ได้ประโยชน์น้อย (หรือเสียประโยชน์มาก) ขึ้นกับว่าจะวัดด้วยดัชนีเศรษฐกิจ วัดด้วยคุณภาพชีวิต หรือวัดด้วยความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
            ผมยกเรื่องประเทศเยอรมันเพื่อย้ำในตอนท้ายนี้ว่าที่สุดแล้วคนในชาติต้องร่วมกันสร้างประเทศสร้างระบบเศรษฐกิจภายในให้เข้มแข็ง เพราะเศรษฐกิจภายในที่เข้มแข็งคือหนึ่งในรากฐานความมั่นคงความมั่นคั่งของประเทศ พยายามนึกถึงประเทศเยอรมันที่เป็นสมาชิกในยูโรโซนแต่ได้ประโยชน์มากกว่าหลายประเทศในกลุ่ม ผมเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกจากยูโรโซนจะต้องส่งเสริมเสถียรภาพในระยะยาวแก่เยอรมันด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เขาตั้งไว้ตรงหน้าเสมอ
-----------------


โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก