ยูโรโซน: เมื่อความจริงเหลือเพียงความฝันให้หวังต่อไป
บทความ 3 ส.ค. 2012
ชาญชัย
จากคำพูดของประธานธนาคารกลางยุโรป
(ECB) นายมาริโอ้ ดรากี้ ที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพของยูโรโซน
กับแถลงการณ์ร่วมของผู้นำเยอรมันกับฝรั่งเศสที่ทวนย้ำคำพูดของนายดรากี้
เมื่อวานได้ข้อสรุปแล้วว่า นายดรากี้ยังพูดทำนองเดิมแต่ขาดมาตรการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
‘ความหวัง’ ของตลาดจึงกลายเป็นเพียง ‘ความฝัน’
ECB ยอมรับว่า
“อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ” แต่ยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ .75
และไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม
นายดร้ากี้ยังทิ้ง ‘ความหวัง’ เพื่อให้
‘ฝัน’ ต่อไป โดยกล่าวว่า ‘ในหลายสัปดาห์จากนี้เราจะคิดหาทางแก้ไขที่เหมาะสม’
ผมตีความระหว่างบรรทัดจากคำพูดของนายดร้ากี้ในบางประเด็นเช่น
‘ที่ประชุมได้หารือและมีความเห็นร่วมในหลายเรื่อง’ แปลว่า ยังมีหลักการหรือรายละเอียดที่ตกลงกันไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในวันนี้
‘ในหลายสัปดาห์จากนี้เราจะคิดหาทางแก้ไขที่เหมาะสม’ แปลว่า การพูดคุยภายในชาติสมาชิก ECB ยังไม่จบสิ้น บางประเทศอาจยังพยายามผลักดันให้เกิดผลอันเป็นรูปธรรมตามแบบที่ตนต้องการ
หรือยังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองว่าแผนที่เป็นรูปธรรมควรเป็นอย่างไร
ทั้งหมดนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ อย่าคาดหวังว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไร
จากนี้ไป จุดที่ควรเฝ้าระวังคือ
อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสเปนอายุ 10 ปี เพราะเป็นต้นเหตุที่มาของคำพูดที่ว่า “จะกระทำทุกอย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพของยูโรโซน”
หากอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 7 กว่าๆ เข้าใกล้ร้อยละ 8 เชื่อว่า ECB จะต้องออกมาทำอะไรบางอย่างอีก (ปัญหาพันธบัตรสเปนอ่านบทความย้อนหลัง ‘สัญญาณอันตรายจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสเปน’ ได้ที่ http://www.chanchaivision.com/2012/06/blog-post_19.html)
ในขณะที่เขียนบทความนี้
อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสเปนอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่ระดับร้อยละ
6.5 (ในระหว่างวันเมื่อวันพฤหัส) มาอยู่ที่ระดับเกินร้อยละ 7 เล็กน้อย ตลาดตอบสนองในทิศทางลบอย่างชัดเจน
ประเด็นสำคัญกลับไปที่สเปน
หากมีข่าวร้ายใหม่ๆ ข่าวร้ายเพิ่มเติมจากสเปน อาจเป็นแรงกระตุ้นให้
ECB คิดออกอย่างรวดเร็วว่ามาตรการรูปธรรมนั้นคืออะไรบ้าง
ผมนั่งทบทวนเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้
สรุปว่าสถานการณ์ภายในชาติสมาชิกยูโรโซนไม่เปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจึงคงเดิม นั่นคือ
ไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ที่จะเป็น ‘ยารักษาโรค’
ไม่ใช่ ‘ยาบรรเทาปวด’
นายดร้ากี้จึงทำได้เพียงพูดให้เกิด
‘ความเชื่อ’ เพื่อที่จะ ‘หวัง’ หรือ ‘ฝัน’ กันต่อไป แต่ที่สุดแล้ว บรรดาชาติสมาชิกยูโรโซนจะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง