ชาวอเมริกันจะได้ประโยชน์หรือไม่เมื่อประเทศลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าภายในทศวรรษนี้สหรัฐฯจะลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางลงครึ่งหนึ่ง และอาจไม่นำเข้าเลยก่อนสิ้นปี 2035 สืบเนื่องจากสามารถหาน้ำมันจากแหล่งภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นและคนอเมริกันบริโภคน้ำมันลดลง แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าชาวอเมริกันจะได้ซื้อน้ำมันในราคาถูกเสมอไป
            ณ วันนี้ ด้วยผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันสามารถดึงน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันบางประเภทที่อดีตทำไม่ได้ เช่น จาก shale-rock จากทรายน้ำมัน แหล่งน้ำมันประเภทนี้มีอยู่ในสหรัฐฯและหลายแห่งทั่วโลก สามารถแก้ไขปัญหาต้นทุนสูง แก้ปัญหาบางอย่างในกระบวนการผลิต เช่นเกิดกำมะถันในปริมาณสูงเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนเหตุที่สหรัฐฯจะบริโภคน้ำมันน้อยลง เพราะสามารถผลิตรถยนต์ที่กินน้ำมันน้อย

จากสองปัจจัยดังกล่าวจึงคาดว่าก่อนปี 2035 สหรัฐฯแทบจะไม่ต้องพึ่งการนำเข้าน้ำมันจากแหล่งตะวันออกกลางอีกต่อไป เป็นไปตามเป้าหมายที่สหรัฐฯหวังไว้นานแล้ว คือต้องการได้แหล่งน้ำมันที่มีความแน่นอน แหล่งที่มีความผันผวนน้อยกว่าตะวันออกกลาง

 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังจะให้ความสนใจกับภูมิภาคตะวันออกกลางต่อไป เพราะตระหนักว่าสถานการณ์ในตะวันออกกลางมีผลต่อราคาน้ำมันในสหรัฐฯ

            ข้อเท็จจริงคือ ราคาน้ำมันโลกขึ้นกับอุปสงค์อุปทานและการเก็งกำไรของนักลงทุน ราคาน้ำมันปีนี้ในช่วงที่ปรับขึ้นสูงไม่ใช่เพราะน้ำมันขาดแคลนหรือหาซื้อไม่ได้ แต่เพราะคาดว่าจะเกิดเรื่องที่ทำให้ไม่สามารถขนส่งน้ำมันออกจากตะวันออกกลาง ทำให้มีผู้ซื้อล่วงหน้าจำนวนมากเพื่อเก็งกำไร

            ดังนั้น น้ำมันไม่ได้ขาดแคลน แต่ที่แพงเพราะนักลงทุนแห่กันแย่งซื้อ เกิดแรงซื้อมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ขายสามารถตั้งราคาขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

            ในอีกมุมหนึ่งคือ เมื่อสหรัฐฯสามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้นเท่ากับว่าอุปทานน้ำมันโลกโดยรวมเพิ่มมากขึ้นด้วย  เป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ราคาน้ำมันโลกอ่อนตัวได้

            ดังนั้น การที่สหรัฐฯสามารถผลิตน้ำมันดิบใช้เองมากขึ้นในอนาคต ไม่ได้หมายความว่าคนอเมริกันจะได้ใช้น้ำมันราคาถูกเสมอไป เหตุเพราะภายใต้กลไกการค้าเสรี ราคาน้ำมันดิบเป็นราคาที่เชื่อมโยงกันทั้งโลก แม้ว่าภายในประเทศสหรัฐฯจะสงบสุข แต่ถ้าเกิดความวุ่นวายตรงที่ใดที่หนึ่งซึ่งส่งผลต่ออุปทานน้ำมัน ราคาน้ำมันโลกจะขึ้นสูงตามกลไกตลาดทันที เมื่อถึงตอนนั้นต้องดูว่าระหว่างแรงซื้อเก็งกำไรกับอุปทานน้ำมันโลกฝ่ายไหนจะแรงกว่ากัน
            ในแง่ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ไม่ว่าสหรัฐฯจะผลิตน้ำมันได้มากน้อยเพียงใด ก็จะต้องซื้อน้ำมันในราคาตลาดที่ราคาผันผวนตามปัจจัยต่างๆอยู่ดี ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์ในกรณีน้ำมันแพงคือบรรษัทอุตสาหกรรมน้ำมันโดยเฉพาะกลุ่มสหรัฐฯที่อนาคตจะผลิตน้ำมันออกขายจากแหล่งภายในประเทศได้มากขึ้น
28 มิถุนายน 2012
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก