ลักษณะทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หน้า 4

ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“ลักษณะแนวคิดหรือทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
            ประการแรก ไม่มีแนวคิดหรือทฤษฎีใดที่สามารถใช้ครอบคลุมกับทุกเหตุการณ์
            ประการที่สอง แต่ละแนวคิดหรือทฤษฎีมีความบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง
            จนทุกวันนี้ ในแวดวงนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านทฤษฎียังถกเถียงกันอยู่เสมอถึงความบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์กันอยู่เสมอ
            ประการที่สาม เหตุการณ์บางเรื่องไม่สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดหรือทฤษฎีใดๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
            กลายเป็นความท้าทายของนักทฤษฎีที่จะค้นคว้าและสร้างทฤษฎีใหม่ๆเพื่ออธิบาย วิเคราะห์ คาดการณ์เหตุการณ์เหล่านั้นต่อไป
“สัจนิยม”
            · สัจนิยมเป็นสำนักความคิด (school of thought) ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นมุมมองที่สำคัญที่สุดในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
            · เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน
            · หรือ “เป็นกระบวนทัศน์นำ” (dominant paradigm)
            · “เป็นแนวที่ใชักันอยู่ในทางปฏิบัติในกระทรวงต่างประเทศของทุกประเทศ

            · นักทฤษฎีสัจนิยมสมัยใหม่ เช่น Hans Morgenthau, Reinhold Niebuhr, George Kenan, Henry Kissinger, and John Foster Dulles ย้ำการใช้ตรรกะเรื่อง ‘realpolitik’ แปลตามตัวอักษรว่า ‘politics of realism’ หรือ power politics (การเมืองเรื่องของอำนาจ)
            · แนวคิดหรือทฤษฎีที่อยู่ในข่ายสำนัก realist (realism, realpolitik) คือ balance of power, national (nationalist), conservative, and state-centered (state-centric, state-based) รวมทั้งอาจเติมคำว่า neo ด้วยก็ได้

· สมมุติฐานเบื้องต้น
            1. รัฐคือตัวแสดงหนึ่งหน่วยที่สมบูรณ์ในตัวเอง อันมีเหตุเนื่องจากรัฐคือหน่วยทางการมืองที่มีอธิปไตย ถือว่าทุกการแสดงออกของรัฐคือผลลัพทธ์ที่ภายในรัฐได้ตัดสินใจตกลงร่วมกันแล้ว
            2. ตัวแสดงรัฐเป็นตัวแสดงที่เป็นเหตุเป็นผล (rational actor)
            3. ความอยู่รอด (survival) คือ เป้าหมายสำคัญข้อแรก ดังนั้น ในระบบโลกที่เป็นอนาธิปไตยรัฐทั้งหลายจะให้ความสำคัญกับประเด็นความมั่นคงมากที่สุด

“แก่นหลักคิดของสำนักสัจนิยม”
            · หลักพื้นฐานคือมองมนุษย์ตามแบบ Hobbs ที่ว่ามนุษย์นั้นเห็นแก่ตัว เย่อหยิ่ง มักใหญ่ใฝ่สูง เครียดแค้น
            · สภาพของโลกคือความเป็นอนาธิปไตย ใช้กฎแห่งป่า (law of the jungle) หรือ ผู้เข้มแข็งที่สุดเท่านั้นที่อยู่รอด ปลาใหญ่กินปลาเล็กเสมอ
            o ในป่าประกอบด้วยสัตว์ต่างชนิดน้อยใหญ่ เป้าหมายพื้นฐานของทุกตัวคือเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง สัตว์ตัวใหญ่และแข็งแรงกว่าสังหารสัตว์ที่อ่อนแอกว่าเป็นอาหาร เหล่านี้คือความเป็นไปในป่า ผู้ถูกล่าไม่สามารถเอาผิดผู้ล่าได้ เพราะไม่อาจต่อกรกับอำนาจของผู้ล่า
          o Might is right.
          o ความถูกต้องตามหลักศาสนาหรือหลักอุดมคติใดๆ ไม่เป็นเรื่องสำคัญเท่าความมั่นคงของชาติ
          · ดังนั้น ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือการเมืองระหว่างประเทศ ประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ หรือความอยู่รอด (survival) คือเรื่องสำคัญที่สุด
            o ประเทศที่ยึดแนวคิดนี้ จะสร้างสมกำลังทหารเพื่อป้องกันประเทศ รวมทั้งการใช้อำนาจด้านเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯเพื่อความอยู่รอดของตน
            o การอยู่รอดยังมีความหมายถึง การรุกรานประเทศอื่นด้วย ด้วยความเชื่อที่ว่าวิธีการที่จะรักษาความอยู่รอดไว้ได้ดีที่สุดคือการขยายอำนาจประเทศของตนให้มากที่สุด ซึ่งผลที่ได้ก็คือประเทศอื่นๆอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับตนเอง
          คำถามน่าคิด มีใครหรือประเทศอื่นใดที่จะห่วงใยหรือรักษาผลประโยชน์ของไทยมากเท่ากับที่รัฐไทยจะทำเองหรือไม่
            · แก่นความสนใจของสัจนิยมอยู่ที่ ประเด็นความมั่นคง หรือเรียกว่า high politics ซึ่งจะตรงข้ามกับพวกอุดมคตินิยมที่มุ่งสนใจประเด็นเศรษฐกิจและเรื่องภายในประเทศมากกว่า ความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือเรียกว่า low politics
          · นักสัจนิยมจะคิดหรือวางแผนอย่างเป็นเหตุเป็นผล ผู้นำประเทศที่ใช้หลักนี้คือผู้ที่สามารถจัดสรรทรัพยากรของประเทศว่าใช้แบ่งสรรใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศตามบริบทของตนได้ดีที่สุด เช่น จะประเมินภัยคุกคามแต่ละอย่างว่าเป็นอย่างไรและควรจัดการอย่างไรด้วยทรัพยากรที่คุ้มค่าที่สุด
            คำถามน่าคิด ลองพิจารณาดูว่านโยบายต่างประเทศของประเทศต่างๆ ถือความถูกต้องตามหลักศาสนาเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ อย่างไร
 · วิพากษ์: แก่นแท้ของสัจจนิยม
            o โดยที่สัจจนิยมมองมนุษย์ที่ความเป็นตัวมนุษย์ที่ต้องการมีชีวิตรอดและมีชีวิตที่อยู่ดีกินดีเป็นพื้นฐาน และการที่โลกอยู่ในสภาพอนาธิปไตย ดังนั้น ทุกประเทศต้องหาทางที่ทำอย่างไรตัวเองจะอยู่รอดได้ดีที่สุด ซึ่งก็ด้วยวิธีการที่ทำให้ตัวเองแข็งแรงหรือมีอำนาจเหนือทุกชาติในโลกนั่นเอง

“Hans Morgenthau”
            Hans Morgenthau (1904-1980) เกิดที่ประเทศเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 กล่าวว่า
            1. เป้าหมายของการดำเนินนโยบายประเทศคือเพื่อให้ได้อำนาจ ดังนั้น สามารถนิยามผลประโยชน์แห่งชาติว่าคือการได้มาซึ่งอำนาจนั่นเอง
            2. ไม่มีพันธมิตรแท้ มีเพียงผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น
            3. กำเนิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่จำเป็นต้องยึดความถูกต้องตามหลักศาสนาหรือหลักอุดมคติใดๆ เนื่องจากประเทศอื่นดำเนินนโยบายเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ไม่สนใจเรื่องศีลธรรมความถูกต้อง ดังนั้น ประเทศตนก็ต้องดำเนินตามหลักการนี้ด้วย
            ยกตัวอย่าง เมื่อฮิตเลอร์ได้ครองอำนาจในเยอรมันและสะสมกำลังทางทหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฮิตเลอร์พูดกับว่านายกอังกฤษว่าที่ตนสะสมอาวุธจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อรุกรานประเทศอื่น ขอให้อังกฤษสบายใจได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฮิตเลอร์ก็ส่งกำลังทหารบุกเข้ายึดโปแลนด์อย่างสายฟ้าแลบ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
            ยกตัวอย่าง แม้ว่าปัจจุบันจะสิ้นสุดสงครามเย็น สิ้นสุดสงครามกับคอมมิวนิสต์ ไม่น่ามีเหตุให้ประเทศทำสงครามระหว่างกัน แต่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกันต่างยังรักษาหรือเสริมสร้างกองทัพของตนเอง มีการซ้อมรบเป็นประจำ เป็นตัวอย่างอันดีถึงการใช้หลักคิดของสัจนิยม

Balance-of-Power
           สมดุลแห่งอำนาจ (balance-of-power) เป็นแนวคิดหรือระบบปฏิบัติภายใต้ทฤษฎีสัจนิยม ในประวัติศาสตร์ยุโรปแนวคิดนี้ถูกใช้ตั้งแต่ปี 1648 จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือเป็นเวลาเท่ากับ 266 ปี เหตุที่สมดุลแห่งอำนาจใช้ผลเพราะประเทศในยุโรปสมัยนั้นไม่มีประเทศใดเพียงประเทศเดียวที่เป็นมหาอำนาจ
· แนวทางของสมดุลแห่งอำนาจ
            แนวทางของสมดุลแห่งอำนาจ คือ การพยายามรักษาให้กลุ่มหรือฝ่ายที่เป็นอริกันนั้นมีอำนาจเท่าเทียมกัน หากมีฝ่ายใดที่กำลังมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ประเทศที่แต่เดิมเป็นกลางก็จะต้องหันไปสนับสนุนฝ่ายที่กำลังตกเป็นเบี้ยล่าง ประเทศดังกล่าวบางทีเรียกกว่า ผู้รักษาสมดุล (keeper of the balance) ผลที่ได้คือต่างฝ่ายต่างไม่อาจทำสงครามต่อกันเพราะรู้ว่าไม่อาจมีชัยในสงคราม
            ประเทศที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลในยุโรปสมัยนั้นคือ สหราชอาณาจักร และสามารถทำได้ดีเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศล้อมรอบด้วยทะเลไม่มีอาณาเขตติดต่อทางบก มีอำนาจรบทางทะเลที่ไม่มีใครเทียบได้ และระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมาก ทั้งหมดเป็นปัจจัยเป็นเกราะป้องกันช่วยให้อังกฤษยากที่จะถูกกลุ่มประเทศในยุโรปรุกราน ในขณะเดียวกันกับที่อังกฤษไม่มีกำลังทหารบกมากเพียงพอที่จะทำสงครามชนะประเทศอื่นตามลำพัง เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้อังกฤษปลอดจากถูกรุกรานและไม่อาจรุกรานผู้อื่นแต่สามารถสนับสนุนประเทศอื่นได้ถ้าต้องการ
            สภาพของประเทศอื่นๆในยุโรปก็เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ยุโรปรักษาสมดุลแห่งอำนาจไว้ได้นาน นั่นก็คือ สภาพที่ไม่มีประเทศใดที่สามารถเสริมสร้างหรือรักษาแสนยานุภาพทางทหารจำนวนมากได้เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณจำกัด กับเทคโนโลยีทางทหารที่ยังไม่สามารถเอาชนะการรบได้อย่างรวดเร็ว
            ประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งล้อมรอบอยู่ด้วยอำนาจหรือิทธิพลของ 3 มหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ก็ใช้หลักดุลแห่งอำนาจถ่วงดุลมหาอำนาจทั้งสาม

“อุดมคตินิยม”
            · “บุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันความคิดของอุดมคตินิยม คือ ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต ถือว่าเป็นบิดาของอุดมคตินิยม”
            · อุดมคตินิยม “มองว่าธรรมชาติขอมนุษย์นั้นเป็นคนดี สามารถมีความคิดที่จะช่วยเหลือคนอื่น มนุษย์สามารถร่วมมือกันได้ สามารถช่วยเหลือกันในเชิงสร้างสรรค” ต่างจากสัจนิยมที่มองว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมองที่ประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก “มนุษย์มีสัญชาติญาณของการทำลายล้าง ชอบการกดขี่กันและกัน เป็นการมองโลกในแง่ร้าย” 

            · พวกสัจจนิยมจะบอกว่า ระบบโลกนั้นอนาธิปไตย ใช้กฎแห่งป่า ใครแข็งแรงกว่าอยู่รอด แต่พวกอุดมคตินิยมกลับเห็นว่า เพื่อให้โลกไม่ตกอยู่ในสงครามร่ำไป “ทำไมไม่สร้างสถาบัน ไม่สร้างกฎระเบียบขึ้นมาในสังคมโลก” เพื่อให้รัฐทั้งหลายอยู่กันโดยสันติ

            · Spiegel กับพวก เสนอว่า รัฐทั้งหลายในโลกไม่ต้องมัวแต่ทำสงครามกัน หรือมุ่งสนใจเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจหรือความมั่นคง เพราะรัฐทั้งหลายให้คุณค่ากับเศรษฐกิจที่คนอยู่ดีกินดี วัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเมือง สังคมและวัฒนธรรมที่รัฐทั้งหลายมักจะหันมาร่วมมือกัน ระบบระหว่างประเทศจึงไม่ตกอยู่ในสภาพ ใครอยากจะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา (dog-eat-dog)
             รัฐทั้งหลายมีความร่วมมือกันแม้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอนาธิปไตย ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศไม่อยู่ในลักษณะ zero-sum game ทุกเรื่อง อีกทั้ง การค้าเสรีและระบอบประชาธิปไตยทำให้เล็งเห็นประโยชน์ของการร่วมมือกัน อุปสรรคของการร่วมมือยังมีให้เห็นอยู่แต่สามารถก้าวผ่านได้ด้วยการตกลงร่วมกัน
            สหภาพยุโรปเป็นอีกตัวอย่างที่เด่นชัดว่า การที่ประเทศยุโรปอยู่ร่วมเป็นสหภาพทำให้เกิดความมั่นคงร่วมกัน และได้ผลดีทางเศรษฐกิจร่วมกันด้วย กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ (แต่จุดอ่อนของแนวคิดนี้คือ ขาดการมองประเด็นสังคมวัฒนธรรม การเข้ากันได้ทางเชื้อชาติ การดึงทรัพยากรของรัฐเพื่อช่วยพัฒนาสมาชิกอื่นๆที่ด้อยพัฒนากว่า)
            ในภาวะที่รัฐบาลแต่ละประเทศจำต้องให้ประชาชนของตนกินอิ่ม มีงานทำ รัฐเหล่านี้จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ ซึ่งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ ถ้าจะทำสงครามต้องคิดก่อนว่าทำสงครามโลกประชาชนกินอิ่ม มีงานทำหรือไม่
            คำถามน่าคิด วันนี้ถ้ารัฐบาลไทยมีความคิดจะทำสงครามกับประเทศพม่า คนไทยจะสนับสนุนหรือไม่ อย่างไร
            คำถามน่าคิด สถานการณ์ในโลกปัจจุบัน ควรมองด้วยสำนักความคิดใด
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120 ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก