ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์ หน้า 7

ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์
“ที่มาของหลักวิชารัฐศาสตร์ที่เรียนในประเทศไทย”
            วิชาหลักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาในประเทศไทยอิงหลักรัฐศาสตร์ของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ กับกลุ่มยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะสหราชอาณาจักร เนื่องจาก
            1) ประเทศดังกล่าวมีสะสมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการศึกษา ทำให้มีผู้สนใจศึกษาต่อที่นั่นและกลับมาเป็นอาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัยในประเทศไทย หลักสูตรและองค์ความรู้ที่สอนจึงอิงประเทศตะวันตก
            2) ความถนัดในภาษาต่างประเทศก็เป็นเหตุหนึ่งเช่นกัน เมื่อคนไทยส่วนใหญ่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง การศึกษาต่อหรือการอ่านตำราจึงมุ่งภาษาอังกฤษ
            เป็นการดีที่จะมีผู้ศึกษารัฐศาสตร์ที่เสาะหาความรู้จากทั่วทุกแห่งหนทั่วโลก
“เป้าหมายของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์”
            คำถามนี้มีคำตอบได้หลายอย่าง ขึ้นกับผู้เรียนและผู้คาดหวัง เช่น ผู้เรียนอาจคาดหวังว่าเรียนเพื่อสอบให้ผ่านเท่านั้นเอง บางคนอาจบอกว่าเพื่อไปประกอบอาชีพในสายวิชานี้ รัฐบาลต้องการคนที่มีความรู้รัฐศาสตร์เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องการให้ประชาชนในประเทศเป็นพลเมืองที่ดี เข้าใจบทบาท หน้าที่
            ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางรัฐศาสตร์ เพราะจำต้องให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของตนเองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และความรับผิดชอบของตนในฐานะพลเมืองที่ดีของสังคม – ดังนั้น ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์จึงเป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นที่รัฐบาล องค์กรต่างๆ หรือแม้กระทั่งภายในครอบครัว ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ปกครอง บุตรหลาน มีความรู้ด้านนี้อย่างกว้างขวางให้มากที่สุด เหมือนที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยมีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนอ่านออกเขียนได้ บัดนี้ สังคมไทยหากต้องการเป็นสังคมระบอบประชาธิปไตยที่เจริญงอกงาม ต้องช่วยกันทำให้คนไทยทุกคนมีความรู้ความเข้าใจรัฐศาสตร์

            อลัน อิสอัค (Alan Isaak) เสนอว่า นักรัฐศาสตร์ต้องวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินการกระทำของรัฐบาลได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร การเมืองที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมควรเป็นเช่นใด จุดยืนของนักรัฐศาสตร์ที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างไร นักรัฐศาสตร์ไม่สามารถวางตัวเป็นกลางทางการเมืองได้ แต่จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองด้วยการชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิดและเพราะเหตุใด
             สอดคล้องกับที่ Magstadt ชี้ว่า นอกจากจะศึกษาว่าการเมืองเป็นอย่างไรหรือดำเนินอย่างไร ควรมุ่งเน้นว่า ‘แล้วที่ดีกว่า’ เป็นอย่างไรด้วย ดังนั้น มักจะต้องตั้งคำถามว่า “มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่”

            รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวพันกับศาสตร์อื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จากความเกี่ยวพันกันทางวิชาการระหว่างสาขาวิชาทำให้วิชารัฐศาสตร์ได้รับผลกระทบจากสาขาวิชาอื่น และในทางกลับกันศาสตร์ในสาขาวิชาอื่นก็ได้รับผลกระทบอันเกิดจากวิชารัฐศาสตร์เช่นกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในศาสตร์สาขาต่างๆ จำต้องทำความเข้าใจในวิชารัฐศาสตร์เพื่อเป็นรากฐานใช้ในการเสริมความเข้าใจให้มีลักษณะเป็นมิติที่กว้างขวางและครอบคลุม

            สรุป การศึกษารัฐศาสตร์จึงไม่ควรหยุดที่ความเข้าใจในเรื่องหรือประเด็นที่ศึกษา แต่ที่สุดแล้วต้องถึงขั้นสามารถเสนอทางเลือกที่ดีกว่า หรือปรับปรุงของเดิมให้มีประสิทธิภาพและก่อประโยชน์ยิ่งขึ้น – นักรัฐศาสตร์จะไม่เพียงแค่พูดให้สนุกปาก วิจารณ์คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ (คนชอบวิพากษ์วิจารณ์) แต่สุดท้ายไม่คิดว่าทางออก ทางที่ควรจะเป็นอย่างไร และจะช่วยดำเนินการอย่างไร เพราะจะไม่ก่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมใดๆ แต่นักรัฐศาสตร์จะร่วมแสดงออกทางการเมืองกับประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน หรือแม้ไม่เป็นนักรัฐศาสตร์ ความรู้ความเข้าใจทางรัฐศาสตร์ย่อมเสริมความรู้และประโยชน์ที่ได้ในศาสตร์อื่นๆ
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120
ชาญชัย คุ้มปัญญา
--------------------------