ลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์ หน้า 6
“ขอบเขต สาขาของวิชารัฐศาสตร์”
เนื่องจากอำนาจการเมืองปัจจุบัน รัฐเป็นหน่วยทางการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในตัวเอง ดังนั้น การศึกษาวิชารัฐศาสตร์จึงมีรัฐเป็นศูนย์กลางการศึกษา เนื้อหาวิชาจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยู่ภายในรัฐ กระบวนการต่างๆ
• หน่วยการเมืองอื่นๆ มีความสำคัญมากขึ้น
เหตุเนื่องจาก การพัฒนาทางการเมือง โดยเฉพาะการพัฒนาของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้หน่วยทางการเมืองอื่นๆ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนเช่นกัน โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ หรือบรรษัทข้ามชาติ
• เน้นการศึกษาเรื่องที่เป็นปัจจุบัน
รัฐศาสตร์เป็นการศึกษาเพื่อมุ่งตอบคำถามหรือแก้ปัญหาหรือเสนอแนะ แก่เรื่องหรือประเด็นที่เป็นปัจจุบัน ที่กำลังมีผลกระทบต่อรัฐชาติ
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์จึงมักปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ที่ออกมาในแต่ละวัน
แต่เพื่อให้เข้าใจรัฐศาสตร์ นักศึกษาต้องเข้าใจเรื่องในอดีตหรือประวัติศาสตร์เสียก่อน การศึกษาเรื่องราวในอดีตหรือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาคำตอบของคำถามรัฐศาสตร์
นักรัฐศาสตร์จึงต้องไม่พลาดจากสถานการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
และเรื่องที่เป็นรัฐศาสตร์ในปัจจุบันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ในอนาคต
• เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ มากมาย
เช่น ประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยา ปรัชญา จริยศาสตร์ นิติศาสตร์ จิตวิทยา การทหาร เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทั้งในและต่างประเทศ ขึ้นกับหัวข้อทางรัฐศาสตร์ที่กำลังศึกษาเกี่ยวข้องหรือเน้นหนักไปทางด้านใด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งหรือหลายๆ ศาสตร์พร้อมกัน
รัฐศาสตร์จึงเป็นการศึกษาแบบสหวิทยาการ (Multidisciplinary) ผู้ศึกษารัฐศาสตร์จึงต้องศึกษาศาสตร์อื่นๆ ควบคู่ด้วย สามารถนำความรู้จากศาสตร์อื่นเข้าผสมผสานกับรัฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์จะมัวมุ่งเน้นสนใจแต่เนื้อหารัฐศาสตร์ล้วนๆ โดยไม่สนใจศาสตร์หรือความรู้เรื่องอื่นๆไม่ได้
• ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศาสตร์ใดขึ้นอยู่กับว่าประเด็นรัฐศาสตร์ที่พูดถึงเป็นเรื่องใด
ยกตัวอย่าง หากเป็นการบริหารประเทศมักจะต้องพูดถึงการบริหารเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น เศรษฐศาสตร์จึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก
หรือหากเป็นความเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องการทหารย่อมจะต้องถูกพูดถึงด้วยเสมอ
ดังนั้น นักรัฐศาสตร์ที่สนใจหรือศึกษาเรื่องใด ต้องศึกษาในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วยเสมอ
• ในแวดวงวิชาการ วิชารัฐศาสตร์จำแนกแยกย่อยเป็นสาขาหลายสาขา (ขึ้นอยู่กับว่านักวิชาการผู้นั้น หรือสำนักนั้นจะแบ่ง) เช่น
o สาขาปรัชญาการเมือง (Political Philosophy)
o สาขาทฤษฎีการเมือง (Political Theory)
o สาขากฎหมายมหาชน (Public Law)
o สาขาการเมืองการปกครอง (Government)
o สาขารัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration)
o สาขาการเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics)
o สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations)
สำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเมืองไทย เน้นหลักใน 3 สาขา ได้แก่
1. สาขาการเมืองการปกครอง (Government)
2. สาขารัฐประศาสนศาสตร์หรือบริหารรัฐกิจ (Public Administration)
3. สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations)
“ธรรมชาติของวิชารัฐศาสตร์”
• การศึกษารัฐศาสตร์สามารถเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ไม่อาจจะพิสูจน์แน่นอนเหมือนวิทยาศาสตร์
หมายความว่า การศึกษารัฐศาสตร์สามารถใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) เริ่มจากการตั้งสมมติฐานและเข้าสู่กระบวนเพื่อทดสอบสมมติฐาน แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่แน่นอน บางครั้งใช้เหตุผล บางครั้งใช้อย่างอื่นที่ไม่ใช่เหตุผล เช่น อารมณ์ ความรู้สึก ไสยศาสตร์ บางครั้งก็ใช้เหตุผลเป็นส่วนประกอบมากบ้างน้อยบ้าง อีกทั้งไม่สามารถจับมนุษย์หรือหน่วยทางการเมืองมาทดลองในห้องทดลองเหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพราะผิดศีลธรรมหรือเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การศึกษารัฐศาสตร์จึงเป็นเพียงการสังเกตุ การพยายามเข้าใจ อธิบายปรากฎการณ์หนึ่งๆ และคาดเดาผลสืบเนื่องในอนาคตอย่างเป็นระบบเท่านั้น
เหตุผลที่สอง คือ การมีปัจจัยเกี่ยวข้องจำนวนมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น นายกทักษิณชนะการเลือกตั้งในปี 2548 ถามว่า เหตุใดจึงชนะการเลือกตั้ง เป็นเพราะมีเงินมากกว่าหรือ เป็นเพราะผลงานการเป็นรัฐบาลก่อนหน้านี้หรือ เป็นเพราะมีทีมงานดีหรือ เป็นเพราะคนจำนวนมากพอใจในผลงานของท่านหรือ ฯลฯ เหล่านี้ยังเป็นการเพียงพูดโดยคร่าวๆเท่านั้น ดังนั้น การศึกษาเพื่อจะหาคำตอบจึงยากมาก แตกต่างจากการทดลองทางเคมีที่สามารถควบคุมตัวแปรต่างๆได้ง่ายกว่า
เหตุผลที่สาม คือ บริบทหรือเหตุการณ์ต่างๆไม่สามารถทำซ้ำได้เหมือนเดิม จึงกลายเป็นข้อจำกัดอย่างมากต่อการศึกษาว่า ปัจจัยที่เราสนใจนั้น จริงๆแล้วมีผลอย่างไร มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะหากปัจจัยดังกล่าวเป็นผลลูกโซ่ที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆในบริบทหนึ่งๆ
• การไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอนเป็นเสน่ห์ของรัฐศาสตร์ และท้าทายความสามารถของนักรัฐศาสตร์
ดังที่ทราบว่า รัฐศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจน แน่นอน เหมือนกันทุกครั้ง อย่างที่วิทยาศาสตร์ทำได้ ในแง่มุมหนึ่งอาจทำให้บางคนเกิดความวิตกเนื่องจากรัฐศาสตร์ไม่มีคำตอบที่แน่นอน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความไม่แน่นอน ความคาดการณ์ไม่ได้สมบูรณ์ เป็นเส่นห์ ของรัฐศาสตร์ ที่เรื่องราวต่างๆ ผลิกผันได้อยู่เสมอ ไม่มีผลสรุปตายตัวเหมือนเดิมอย่าง 4 คูณ 5 จะเท่ากับ 20 เสมอ และกลายเป็นความน่าท้าทายความสามารถของนักรัฐศาสตร์ เมื่อต้องเผชิญกับประเด็นหรือปัญหารัฐศาสตร์ที่ต้องเกี่ยวข้องด้วย ต้องเข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้น
เอกสารประกอบคำบรรยาย รหัสวิชา2551120
ชาญชัย คุ้มปัญญา
------------------